
มีคนถามบ่อยๆ ว่าอยากให้ลูกได้สองสัญชาติ จะต้องทำอย่างไร ขออธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ นะคะ
การได้มาซึ่งสัญชาติของบุคคลนั้น กฎหมายสัญชาติระบุหลักการไว้ สองข้อคือ
1. หลักสายโลหิต คือ บุตรจะได้มา ซึ่งสัญชาติใดๆนั้น ให้ถือตามสายโลหิต ของผู้ให้กำเนิด คือบิดามารดา ใน กรณีที่ เป็นคนไทย ถ้ามารดาเป็นคนไทย บิดาจะเป็นคนไทย หรือคนสัญชาติอื่น บุตรจะได้สัญชาติไทย ตามมารดา แต่ถ้าบิดา เป็นคนไทย มารดาเป็นคนต่างด้าว บุตรจะได้สัญชาติไทย ก็ต่อเมื่อบิดาและมารดา จดทะเบียนสมรส ถูกต้องตามกฏหมาย หรือบิดา จดทะเบียนรับรองบุตร กับหน่วยงาน ที่รับผิดชอบ ด้านงานทะเบียนของไทย
การ ได้สัญชาติโดย วิธีนี้ ไม่จำเป็นว่า บุตรต้องถือกำเนิด ในประเทศไทย จะเกิดต่างแดนก็ได้ แต่ต้องมีการแจ้งเกิด กับสถานทูตไทย ในประเทศนั้นๆ
2. หลักดินแดน คือ การที่บุคคล ได้มาซึ่งสัญชาติ โดยการเกิด ในประเทศนั้นๆ ไม่ ว่าจะเป็นคน สัญชาติใด หากเกิดในประเทศนั้นๆ และกฏหมายสัญชาติ ของประเทศนั้น รับรองการเกิด เด็กที่เกิด ในประเทศนั้น ก็จะได้สัญชาติ ของประเทศนั้น โดยการแจ้งเกิด ตามขั้นตอน งานทะเบียน ตามที่กฏหมายกำหนด โดยที่ทั้งบิดา และมารดา ไม่ได้ถือสัญชาต ิของประเทศนั้น แต่อย่างใด
ตัวอย่างเช่น
- บิดา มารดา เป็นคนสัญชาติไทยทั้งคู่ แต่บุตรเกิดที่แคนาดา เด็กก็จะได้ สัญชาติแคนาดา ตามสถานที่กำเนิด และได้สัญชาติไทยตามบิดามารดาด้วย
- มารดา เป็นคน สัญชาติไทย บิดาเป็นอเมริกัน บุตรเกิดในประเทศไทย เด็กได้สัญชาติไทย ตามมารดา และตามถิ่นกำเนิด และขณะเดียวกัน ก็ได้สัญชาติอเมริกัน ตามบิดาด้วย
- มารดาเป็นคน สัญชาติไทย บิดาเป็นคนอังกฤษ บุตรเกิดที่จีน เด็กจะได้สัญชาติจีน ตามถิ่นที่เกิด ได้สัญชาติไทย ตามมารดา และได้สัญชาติอังกฤษ ตามบิดา
ทั้งนี้ การได้มา ซึ่งสัญชาติที่สามนั้น ต้องดูด้วยว่า กฏหมายสัญชาติ ของประเทศนั้นๆ รับรองการเกิด ของคนต่างด้าวหรือไม่ โดยมากจะมีข้อยกเว้น คล้ายคลึงกัน ทุกประเทศคือ
(1) หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต
(2) หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล
(3) พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ
(4) คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน (1) (2) หรือ (3)
บุคคลในสี่กลุ่มนี้ หากมีบุตรที่ถือกำเนิดในประเทศที่สามที่ตนไปประจำการอยู่ เด็กจะไม่ได้รับสัญชาติที่สาม
คำว่า "คนสัญชาติไทย" ในที่นี้หมายถึง คนไทยที่ไม่เคยยื่นคำร้อง ขอสละสัญชาติไทย ส่วนคนไทยที่ ถือพาสปอร์ตสองเล่ม หรือเป็นพลเมืองถาวร ของประเทศอื่น แต่ยังถือพาสปอร์ตไทย ก็ยังถือว่า เป็นคนสัญชาติไทยค่ะ
ใน กรณีที่เด็ก ได้สัญชาติ เพราะเกิดในประเทศนั้นๆ ไม่ได้แปลว่า จะทำให้บิดามารดา สามารถได้รับสิทธิ การเป็นพลเมืองถาวร ของประเทศนั้น ทั้งนี้ ต้องเป็นไป ตามเงื่อนไขของ กฏหมายอิมมิเกรชั่น ของแต่ละประเทศ ด้วยว่า มีขั้นตอนอย่างไร
ตัวอย่าง เช่น บิดามารดาเป็นคนไทยทั้งคู่ ไม่ได้ถือกรีนการ์ด แต่บุตรเกิดในอเมริกา ดังนั้น เด็กได้สัญชาติอเมริกัน ตามประเทศที่เกิด และได้สัญชาติไทย ตามบิดามารดา แต่บิดาและมารดาไม่มีสิทธิ ที่จะพำนักในอเมริกา เป็นการถาวร ไม่สามารถ เอาลูกมาอ้าง ในการขอกรีนการ์ดได้ ดังนั้น จะต้องรอจนกว่า บุตรจะมีอายุครบ 21 ปี มีงานทำ และมีรายได้เพียงพอ ที่จะเป็น สปอนเซ่อร์ ให้บิดาและมารดา จึงจะสามารถยื่นเรื่อง ขอกรีนการ์ด ให้บิดามารดาได้ค่ะ
© 2007 Lawanwadee